ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2563
กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมายใหม่ที่มาแทนกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยภาษีบํารุงท้องที่ โดยกฎหมายฉบับใหม่มีจุดมุ่งหมายในการช่วยลดความเลื่อมล้ำในสังคมและเพิ่มการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเป็นผู้จัดเก็บภาษีโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จริง ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับ อปท. เพื่อนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่นในด้านสังคมอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังสามารถลดการถือครองที่ดินเพื่อการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
ภาษีที่อยู่อาศัย
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีประเภทใหม่ที่จะนำมาใช้จัดเก็บแทนภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน โดยรายได้ จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด จะเป็นของ อปท. เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินหรือรายได้ของรัฐบาล
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
รัฐสามารถจัดเก็บภาษีจากประชาชนได้สามแบบ คือ ภาษีจากรายได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีจากรายจ่าย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีจากทรัพย์สิน เช่น ภาษีมรดก ภาษีโรงเรือน (ซึ่งยกเลิกไปแล้ว) ซึ่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ก็เป็นภาษีประเภทหลังสุดนี้เองครับ คือ เก็บจากทรัพย์สินที่ประชาชนสะสมไว้
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นภาษีชนิดใหม่ มาแทนที่ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ 2 ชนิดนี้ที่ถูกยกเลิกไป โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเก็บจากอะไร
การเก็บภาษีจะต้องมีสิ่งที่รัฐจะนำมาเป็นฐานในการจัดเก็บ เรียกว่า ฐานภาษี ซึ่งฐานภาษีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้คือบรรดาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย โดยคิดจากราคาประเมินของทางราชการที่ประกาศโดยกรมธนารักษ์
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งรวมโรงเรือน อาคาร ตึก หรือ สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่บุคคลเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ หรือใช้เป็นที่เก็บสินค้า หรือประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม ห้องชุด หรือแพที่บุคคลอาจใช้อยู่อาศัยได้หรือมีไว้เพื่อหาผลประโยชน์ด้วย แต่ไม่รวมเครื่องจักรหรือส่วนควบที่ติดตั้งในโรงงานซึ่งเคยอยู่ในระบบภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่
อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
อัตราภาษีที่กำหนดอยู่ในกฎหมายนั้น เป็นอัตราภาษีสูงสุดที่รัฐมีอำนาจจัดเก็บได้ แต่สำหรับปี 2563 และ 2564 นี้ รัฐประกาศจัดเก็บภาษีต่ำกว่าอัตราสูงสุด สำหรับอัตราสูงสุดนั้น เป็นไปตามมาตรา ของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี
- ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
1. ใน 4 ปีแรกของการบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กฎหมายกำหนดให้มีการบรรเทาภาระภาษี หากเจ้าของทรัพย์สินต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีบำรุงท้องที่เดิม
2. หลักการของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดูเหมือนจะดี สร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม แต่เมื่อตัวกฎหมายออกมาจริงกลับมีช่องโหว่มาก ทำให้รัฐเสียประโยชน์และเจ้าของที่ดินรายใหญ่มีช่องทางวางแผนภาษีได้มากขึ้น เช่น แต่เดิมภาษีบำรุงท้องที่ให้ยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมสำหรับที่ดินขนาด 1-5 ไร่ในต่างจังหวัด และ 100 ตารางวา-5 ไร่ ในเขตกรุงเทพฯ ต่อเจ้าของที่ดิน 1 ราย แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ยกเว้นที่ดินเกษตรกรรมมูลค่า 50 ล้านบาทแรกต่อ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 7,000 แห่ง หากเจ้าของที่ดิน 1 ราย มีที่ดินกระจายไปในหลายท้องที่ก็จะได้รับยกเว้น 50 ล้านบาทแรกทุกท้องที่ จากที่เดิมได้รับยกเว้นแค่แห่งเดียว
3. ปัจจุบันยังมีความไม่ชัดเจนมากมายในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทั่งภาครัฐเองก็ดูจะขาดความพร้อมและแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ล่าสุด มีประกาศขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไป โดยภาษีที่ต้องชำระครั้งแรกจากเดิมในเดือนเมษายน 2563 ถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.ddproperty.com/