สหกรณ์บริการ ส่งเสริมอาชีพและวัฒนธรรมชลบุรี จำกัด หรือ CMPC ได้จัดการอบรมอาชีพการเพาะเลี้ยงเห็ดเบื้องต้น ครั้งที่ 1 เพื่อทำเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพรอง ในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด 19 โดยมีสมาชิกสหกรณ์ฯ และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 30 ท่าน ณ ศูนย์อบรมและพัฒนาความรู้ฯ ต.หนองไม้แดง อ.เมือง จ.ชลบุรี
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโครงการตามแผนการดำเนินงานของสหกรณ์ ในการสร้างอาชีพด้านการเพาะเลี้ยงเห็ด รวมถึงรองรับผู้ที่ตกงานหรือกำลังมองหาอาชีพใหม่ เพื่อสร้างอาชีพเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนเมืองอุตสาหกรรมให้มีความยั่งยืน ไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ในการอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตก้อนเห็ดที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ, การผลิตเห็ดด้วยวิธีต่าง ๆ, วิธีเพาะเลี้ยงเห็ดและเก็บผลผลิต, รูปแบบของโรงเรือน, รวมถึงปัญหาและข้อควรระวังในการเพาะเลี้ยงเห็ด จำนวน 2 วัน รวม 12 ชั่วโมง และผู้เข้าอบรมทุกท่านจะได้รับก้อนเห็ดที่ผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วนำไปทดลองเพาะเลี้ยงจริงจำนวนหนึ่งอีกด้วย
สำหรับหลักสูตรและวิทยากรได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี รวมถึงตรงกับความต้องการของผู้เรียนในการเรียนเพื่อนำความรู้ไปต่อยอดและพัฒนาไปสู่การประกอบอาชีพเป็นอาชีพหลักของครอบครัวต่อไป โดยก่อนหน้านี้ ประธานสหกรณ์ฯ ได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรร่วมกับทางศูนย์ฯ ด้วย และในนามสหกรณ์ฯ ต้องขอขอบพระคุณ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดย นายพัฒนา เพชรคชสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารฯ ที่ได้มอบหมายให้นางสาวทิพย์วิมล หมื่นเตียง และนางสาวฐิติรัตน์ อุบล นักวิชาการเกษตร และอาจารย์ทิพวรรณ สิทธิรังสรรค์ ร่วมเป็นวิทยากรอบรมหลักสูตร เมื่อวันที่ 20-21/07/2563 ที่ผ่านมาไว้ ณ โอกาสนี้
นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากองค์กรหน่วยงานเอกชน อาทิเช่น สมาคมธุรกิจคริสเตียนไทย โดย นายกสมาคมฯ นายสุธี เตชะรักษ์พงศ์ เข้าร่วมชมและศึกษาธุรกิจด้านเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้า ซึ่งจะมีการทำสัญญาดำเนินการร่วมกันกับสหกรณ์ในด้านความรู้ ด้านการตลาด และการเพาะเลี้ยงจริงในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมทองโกรว์ เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาเป็นเกษตรธรรมชาติปลอดสารพิษที่สอดคล้องและผสมผสานการดำรงชีวิตของประชาชนในเมืองอุตสาหกรรมอีกด้วย